Skip to content

วิเคราะห์ศาสตร์การแพทย์วิถีธรรมของ ดร.ใจเพชร กล้าจน

วิเคราะห์ศาสตร์การแพทย์วิถีธรรมของ ดร.ใจเพชร กล้าจน

นางสาวลักขณา แซ่โซ้ว

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ

(๑) เพื่อศึกษาหลักการดูแลสุขภาพในพระพุทธศาสนา

(๒) เพื่อศึกษาศาสตร์การแพทย์วิถีธรรมของ ดร.ใจเพชร กล้าจน

(๓) เพื่อวิเคราะห์ศาสตร์การแพทย์วิถีธรรมของ ดร.ใจเพชร กล้าจน เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ผลการวิจัยพบว่า

หลักการดูแลสุขภาพในพระพุทธศาสนา เป็นการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสุข ความสบาย ความสมบูรณ์ ที่ครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา โดยปฏิบัติอย่างสมดุลและเป็นองค์รวม ซึ่งคำตรัสของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนั้น ทุกหลักธรรม/พระสูตร/พระพุทธพจน์ ล้วนเป็นสัจจะหรือความจริงแท้ซึ่งสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งหมด คือ เป็นไปเพื่อนิโรธ/วิมุตติ/นิพพาน ซึ่งสุขภาวะด้านปัญญา คือ การเข้าถึงโลกุตรปัญญา หรือปัญญาที่สามารถดับกิเลสตัณหาอุปาทานได้ (นิโรธ) เข้าถึงสภาวะของความพ้นทุกข์ (วิมุตติ) และความสุขอันยั่งยืนที่เป็นโลกุตรสุข (นิพพาน) ซึ่งสุขภาวะด้านปัญญา จะทำให้เกิดสุขภาวะด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ตามมาได้

ศาสตร์การแพทย์วิถีธรรมของ ดร.ใจเพชร กล้าจน เป็นศาสตร์การแพทย์แผนใหม่ของโลก มีจุดกำเนิดในประเทศไทย มีแนวคิดหลัก คือ การฝึกฝนปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสภาวะของความสุขอันสูงสุด คือ นิโรธ วิมุตติ นิพพาน ไปเป็นลำดับ มีแนวคิดย่อย คือ (๑) ใจเป็นประธานของสิ่งทั้งปวง (๒) ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน (๓) ดับทุกข์ที่เหตุ (เหตุคือตัณหา) (๔) ประหยัดเรียบง่าย (๕) มีประโยชน์ไม่มีโทษ (๖) พิสูจน์ผลได้ด้วยตนเอง (๗) เป็นจริงตลอดกาล และ (๘) เกื้อกูลผองชน มีการอธิบายกลไกการเกิดการหายของโรคอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ทั้งเชิงนามธรรมและรูปธรรม มีวิธีปฏิบัติที่เรียกว่าหลัก ๙ ข้อสู่สุขภาวะแห่งพุทธะ หรือยา ๙ เม็ดของแพทย์วิถีธรรม มีสโลแกนคือ “หมอที่ดีที่สุดในโลกคือตัวเราเอง” “” “ศูนย์บาทรักษาทุกโรค” โดยในค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรม จะมีการปฏิบัติเหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการ แทรกอยู่ในทุกกิจกรรมของค่าย

วิเคราะห์ศาสตร์การแพทย์วิถีธรรม ดังนี้ (๑) หลัก ๙ ข้อสู่สุขภาวะแห่งพุทธะ หรือยา ๙ เม็ดของแพทย์วิถีธรรม มีเนื้อหาสาระที่สอดคล้องกันกับหลักพุทธศาสตร์ คือ เป็นหลักปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสุข ความสบาย ความสมบูรณ์ อย่างสมดุลเป็นองค์รวมครอบคลุมทั้ง ๔ ด้าน คือ ร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา (๒) ผลของการปฏิบัติ คือ รักษาโรคได้จริง (ผลขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของผู้นั้น) และก่อให้เกิดความสุข ความสบาย ความสมบูรณ์ของชีวิตใน ๗ ด้าน คือ ด้านร่างกาย จิตใจ สังคม ปัญญาสู่ความพ้นทุกข์ เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตโดยรวม และ การพึ่งตนและช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ (ภาวะแห่งพุทธะ) (๓) สิ่งค้นพบใหม่จากงานวิจัยนี้ คือ คำอธิบายกลไกการเกิดการหายของโรคอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งวิทยาศาสตร์เชิงนามธรรมและรูปธรรม

สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ วิเคราะห์ศาสตร์การแพทย์วิถีธรรมของ ดร.ใจเพชร กล้าจน นางสาวลักขณา แซ่โซ้ว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *