รางวัลของนักบำเพ็ญ : ปิ่น คำเพียงเพชร
องค์ประกอบของการบำเพ็ญการงานกับหมู่มิตรดี เป็นเครื่องมือชั้นดีที่จะทำให้ได้เห็นกิเลส คือรางวัลของนักบำเพ็ญ ทำงานไปแล้วสามารถเห็นกิเลสได้นี่ก็คุ้มแล้ว ยิ่งสามารถหักคอกิเลสได้ดวยนี่ยิ่งคุ้มแสนคุ้มจริง ๆ ชีวิต
วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่ได้เห็นบรรยากาศของการอปริหานิยธรรมที่อบอุ่น ของพี่น้องหมู่มิตรดีทีมสาระธรรมอีกครั้ง หลังจากช่วงกิจกรรมตรวจและโหวตงานผ่านไป พี่น้องต่างก็ออกมาสรุปใจสนทนาแลกเปลี่ยนเล่าสภาวธรรมกัน หลายท่านว่าเจอผัสสะในหมู่เล็กหมู่ใหญ่ แล้วเกิดกิเลสสุขทุกข์อย่างไรกันบ้าง และที่พิเศษไปกว่านั้นคือ วันนี้คุรุแต่ละท่านก็ได้ให้สัมมาทิฏฐิ เรื่อง การเพ่งโทษและการชี้ขุมทรัพย์กับพี่น้องเพิ่มเติมด้วย ซึ่งยิ่งทำให้พี่น้องรู้สึกอบอุ่นและเจริญในธรรมกันยิ่งขึ้น
ผัสสะเรื่องงานส่งผลถึงใจ
เนื่องจากว่าทำงานมาส่งแบบไม่ค่อยพอใจกับผลงานเท่าไหร่ ถึงตอนนำเสนองานคุรุก็บอกว่างานเราไม่ลงตัวเหมือนคำคมเลยและได้ให้คำแนะนำว่าควรแก้ไขอย่างไรบ้าง ซึ่งก็น้อมรับและพร้อมจะนำไปแก้ไข แต่เมื่อถึงตอนโหวตงานรู้สึกไม่อยากให้พี่น้องโหวตผ่าน เพราะอยากกลับไปแก้ไขงานก่อน ซึ่งผล ก็ปรากฏว่า พี่น้องให้ผ่านเป็นส่วนใหญ่อีกตามเคย ซึ่งทำให้ได้เห็นกิเลสตัวยึดตัวไม่อยากให้งานผ่านโหวต เพราะอยากกลับไปแก้งานก่อนอยู่ ซึ่งสุดท้ายก็ต้องมาล้างกิเลสตัวอยากแก้งาน และปรับจิตใหม่เป็นแก้งานเพื่อพัฒนาฝีมือแทน
ผัสสะจากพี่น้องในหมู่ใหญ่
เนื่องจากรู้สึกได้ประโยชน์ทุกครั้ง เวลาที่คุรุวิจารณ์งานหรือให้คำแนะนำเรื่องงานหรือเรื่องต่าง ๆ ทีไร ก็จะได้ฟังธรรมดี ๆ ไปด้วยทุกครั้ง และเห็นว่าพี่น้องในหมู่ส่วนใหญ่ จะเงียบไม่ค่อยมีท่านใดจะซักถามอะไรต่อ อาจจะไม่มีคำถามหรืออาจจะตั้งใจฟังคุรุมาก ซึ่งเรารู้สึกว่า ถ้าถามคำถามในแง่มุมที่สงสัยต่อ ทั้งเราและพี่น้องน่าจะได้ประโยชน์เพิ่ม เพราะคุรุก็จะขยายและอธิบายต่อซึ่งก็ทำให้ได้คำแนะนำและได้ฟังธรรมจากคุรุเพิ่มเติมตามคาด ก็เลยมักจะมีคำถามจากเราบ่อย ๆ หลายครั้งเราก็ไม่ได้ประมาณ จนเป็นพูดมากไป หรือเป็นการไปพูดแทรกคุรุขณะที่คุรุกำลังพูดอยู่ แต่ก็ไม่คิดว่าอาจจะเป็นผัสสะให้พี่น้องท่านอื่นได้
ซึ่งวันนี้พี่น้องบางท่านก็ออกมาเปิดใจว่ารู้สึกรำคาญที่เราถามบ่อย เพราะอยากฟังคุรุพูดมากกว่า ไม่อยากให้เราพูดแทรกพูดขัดจังหวะ (ซึ่งจริง ๆ แล้ว เราเองก็เป็นเหมือนกัน คืออยากฟังคุรุพูดธรรมะไม่อยากให้พี่น้องพูดแทรกเวลาคุรุพูดเหมือนกัน ก็เลยเข้าใจพี่น้อง) แต่แว๊บแรกที่ได้ยินพี่น้องพูดมาก็ตรวจใจตัวเองเหมือนกันว่า จิตกระเพื่อมไหมถือสาไหมที่พี่น้องติมาแบบนั้น เรามีอาการหวั่นไหวอะไรกับคำติไหม
ปรากฏว่า ก็ยังมีอาการอยู่บ้างนิดๆ รู้สึกได้ถึงคลื่นที่ไม่ราบเรียบเสียทีเดียวอยู่นิด ๆ ซึ่งตอนนั้นเราก็รู้สาเหตุเลยว่า ที่เรายังมีอาการอยู่แบบนี้อยู่เป็นเพราะเราเองยังเคารพศรัทธาพี่น้องไม่มากพอ เราก็เลยยังถือสาอยู่ จริง ๆ แล้วพี่น้องท่านก็พูดด้วยความจริงใจ ท่านไม่ได้ผิดอะไร น่านับถือด้วยซ้ำที่ท่านกล้าพูดกล้าบอกเราตรง ๆ แบบนี้ แล้วเราเองก็เป็นอย่างที่ท่านว่าจริง ๆ ด้วย แต่ผิดที่เรานี่แหละที่มีกิเลสตัวถือสาอยู่ เมื่อรู้ตัวก็รีบขอขมาและตั้งจิตเพิ่มความเคารพศรัทธาในตัวพี่น้องให้มากขึ้นเข้าไปใหม่ทันที
สรุป : หลังจากที่ได้ขอขมาและตั้งจิตใหม่ไปก็ทำให้คลื่นหรืออาการที่เกิดขึ้นในใจนั้นคลายลง และนั่งรับฟังพี่น้องพูดต่อได้ด้วยความยินดีเต็มใจไม่ถือสา และพร้อมน้อมรับมาปรับปรุงแก้ไขตนเองต่อไป
กิจกรรมในครั้งนี้เป็นบุญ-กุศล หรือบาป-อกุศล อย่างไรสำหรับเรา
เป็นบาป : แว๊บแรก จิตมีกิเลสไปถือสา ตอนที่พี่น้องแสดงความคิดเห็นว่า รำคาญที่เราพูดเยอะไป
เป็นบุญ : พอจับได้ว่าจิตมีกิเลสคิดไปเพ่งโทษพี่น้อง ก็รีบปรับจิตตั้งจิตขออขมา น้อมใจยินดีรับฟังพี่น้องต่อ และน้อมรับมาปรับปรุงแก้ไขตนเอง
เป็นกุศล : เพราะกิจกรรมนี้เป็นการสานพลังกันของพี่น้องหมู่มิตรดี มาทำสิ่งดีที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน โดยแต่ละท่าน ต่างก็เอาแรงกายแรงใจแรงปัญญามาเสียสละ ตามความสามารถของแต่ละท่าน เพื่อผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ
สรุปงานสรุปใจ : กิจกรรมตรวจงานสาระธรรม ภาพประกอบ คำคมเพชรจากใจเพชร | ห้องเรียนสาระธรรม วันที่ 25 ก.พ. 2564
ปิ่น คำเพียงเพชร
ภาคการศึกษา ต่างประเทศ
การสื่อสารบุญนิยม