ข้าวกล่องสุขภาพ : วิภาภรณ์ กอจรัญจิตต์ (ใจพอแล้ว)
เมนูสุขภาพที่เน้นเอกลักษณ์ของอาหารสูตรหมอเขียว สูตร 2 น้องพุทธ คือ มีผักสด ผักลวก ข้าวปรุงพร้อมกับอาหาร และน้ำต้มผัก เมนูข้าวกล่องนี้เกิดจาก ได้รับเชิญให้ไปบรรยายเรื่องยา 9 เม็ดของศาสตร์แพทย์วิถีธรรมในการดูแลสุขภาพของ ซึ่งโดยปกติในการจัดอบรมย่อยแบบนี้ เวลาที่มีการสาธิตเรื่องยาเม็ดที่ 7 (อาหารเป็นยา) เราจะเน้นไปทำอาหารให้ผู้เข้าค่ายได้รับประทานกันเลย แต่เนื่องจากปัญหาเรื่องการระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้มีการปรับเปลี่ยนโดยให้ทีมผู้บำเพ็ญได้มีมติว่า ให้แต่ละท่านทำอาหารของตนเองที่จะรับประทานในมื้อนั้นมาเป็นชุดเล็ก ๆ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เห็นของจริง ได้ซักถามวิธีการทำ และวิธีการรับประทานตามลำดับด้วย
อาหารฤทธิ์เย็น
เวลาที่ใช้ในการทำอาหาร ประมาณ 15-20 นาที
วัตถุดิบฤทธิ์เย็น
-
- ข้าวซ้อมมือหุงสุก
- มะเขือเปราะ
- ข้าวโพด
- กระเจี๊ยบเขียว
- หยวกกล้วย
- แตงกวา
- มะเขือเทศ
- มะละกอห่าม
- ผักบุ้งไทย
- น้ำเปล่า
วัตถุดิบฤทธิ์ร้อน
-
- ดอกเกลือ
- น้ำมันมะพร้าว
- ใบกะเพรา (ใช้ใบโหระพาแทนกันได้)
วิธีทำ
-
- ตั้งกระทะ ใช้ไฟปานกลาง ใส่น้ำมัน ผัดมะเขือเทศให้มีกลิ่นหอม เติมน้ำลงไปให้มะเขือเทศนิ่ม ใส่ใบกะเพราลงไปผัดจนสลบ ปรุงรสด้วยดอกเกลือ ค่อยใส่ข้าวลงไปผัด จนมีสีส้มสวยทั่วกัน ตักขึ้นใส่กล่องอาหาร
- ตั้งหม้อใส่น้ำ ใช้ไฟปานกลาง เติมดอกเกลือและหยดน้ำมันลงไปเล็กน้อย เพื่อให้สีของผักสวยสด ลวกผักตามลำดับการสุกยากไปง่าย ดังนี้ ข้าวโพด มะเขือเปราะ มะละกอห่าม หยวกกล้วย กระเจี๊ยบเขียว และลวกผักบุ้งไทยเป็นอันดับสุดท้าย (หากลวกผักบุ้งไทยก่อน จะทำให้น้ำลวกผักมีสีคล้ำไม่น่ารับประทาน)
- จัดผักลวก ผักสด (แตงกวาและมะเขือเทศ) และข้าวผัดใส่กล่องให้สวยงาม
สภาวธรรม
ตอนที่เตรียมทำเมนูนี้ จิตใจมีความเบิกบานเพราะเป็นเมนูที่ได้ทำรับประทานในครอบครัวก่อนออกไปบำเพ็ญ ซึ่งประโยชน์ที่เกิดขึ้นวันนั้น ผู้เข้ารับการอบรมได้เห็นและเรียนรู้เมนูที่หลากหลายมากกว่า 5 เมนู บางท่านถึงกับบอกว่าไม่เคยคิดเลยว่า เมนูผักจะดูน่ารับประทานได้แบบนี้
อาหารที่ไม่ปรุงรสจัด ไม่ต้องใช้น้ำมันเยอะ อาหารที่สมดุลกับร่างกายก็ดูดีได้เช่นกัน นอกจากนี้ เมนูที่พี่น้องจิตอาสาทำรับประทานเองในชีวิตประจำวัน ก็เป็นเมนูทำง่าย รับประทานง่ายและประหยัดเรียบง่าย เพราะใช้ผักที่ปลูกเองเป็นส่วนใหญ่ เมื่อถึงตอนที่ผู้เข้าอบรมเข้ามาซักถามเมนูของจิตอาสาแต่ท่าน จิตอาสาก็มีความยิ้มแย้มเบิกบาน มีบอกเคล็ดลับการรับประทานอาหารให้ถูกกับโรคด้วย เช่น จิตอาสาที่หายจากโรคไต ก็ทำอาหารกล่องมาด้วยเช่นกัน ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยก็มาถามพร้อมจดบันทึกข้อมูลไว้เพื่อนำไปลองทำที่บ้านต่อ