Skip to content

การลดละเลิกกิเลสความอยากกินพิซซ่าของฉัน : ลักขณา แซ่โซ้ว

การลดละเลิกกิเลสความอยากกินพิซซ่าของฉัน

ลักขณา แซ่โซ้ว (Lakkhana Saesow) พ.บ. แพทยศาสตร์

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบมุมมองที่หนึ่ง (First Person Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการในการลดละเลิกกิเลสความอยากกินพิซซ่าของฉันซึ่งเป็นการวิจัยที่เน้นศึกษาค้นคว้าจากประสบการณ์ตรงของตัวผู้วิจัยเอง โดยใช้กระบวนการทบทวนใคร่ครวญไตร่ตรองความคิดความรู้สึกของตนเองเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้ดีขึ้น ซึ่งในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยมีความตั้งใจที่จะลดละเลิกกิเลสความอยากกินพิซซ่าของตนเอง

ผลการวิจัยพบว่า 1.แรงจูงใจที่ทำให้ผู้วิจัยตั้งใจลดละเลิกกิเลสความอยากกินพิซซ่าของตนเอง คือ ต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของตนเองเพื่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ เนื่องจากตนเองเป็นแพทย์ เมื่อแนะนำให้คนไข้ปฏิบัติอย่างไร ตัวเราเองก็ควรปฏิบัติให้ได้อย่างนั้นด้วย

2.วิธีการปฏิบัติในการลดละเลิกกิเลสความอยากกินพิซซ่าของผู้วิจัยคือการศึกษาธรรมะที่ถูกต้องถูกตรงที่จะนำไปสู่การดับกิเลสตัณหาอุปาทานภายในจิตได้จริงคือสติปัฏฐาน 4 (ศึกษาปริยัติ) จากนั้นลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเองโดยการฝึกสติที่จะรู้เท่าทันความอยากกินที่เกิดขึ้นภายในจิต (อภิชฌา) แล้วพิจารณาด้วยการทำใจในใจโดยแยบคายลงไปถึงที่เกิดคือกิเลสตัณหาอุปาทานที่อยู่ภายในจิต (โยนิโสมนสิการ)จากนั้นใช้ปัญญาแห่งพุทธะที่ได้เรียนรู้จากสัตบุรุษ (ดร.ใจเพชร กล้าจน) เพื่อสลายพลังงานของกิเลสตัณหาอุปาทานนั้น (ปฏิบัติ) และสิ่งที่ยืนยันว่าผู้วิจัยปฏิบัติได้ถูกต้องถูกตรงคือสามารถเห็นผลในการปฏิบัติได้จริงเป็นปัจจุบันขณะคือความอยากกินลดลงหรือหมดไป (ปฏิเวธ)

3.ผู้วิจัยตรวจสอบผลของการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอด้วยการอ่านอาการความอยากกินพิซซ่าที่เกิดขึ้นภายในจิตทุกครั้งที่กระทบผัสสะเช่น เพื่อนชวนกิน เดินผ่านร้าน วางอยู่ต่อหน้า ได้กลิ่นยั่วยวน มีคนซื้อมาฝาก เห็นโฆษณาในโทรทัศน์ เป็นต้น เราก็อ่านอาการที่เกิดขึ้นภายในจิตทุกครั้งว่าเรายังมีความอยากกินเหลืออยู่หรือไม่

4.เมื่อผู้วิจัยได้กลับไปสัมผัสการกินพิซซ่าอีกครั้งก็ไม่มีความรู้สึกอร่อยแล้ว ไม่รู้สึกอยากกินพิซซ่าแล้วไม่เสียดาย ไม่อาลัยอาวรณ์ จึงไม่ต้องตกเป็นทาสของกิเลสตัณหาอุปาทานอีก

5. เมื่อดับกิเลสตัณหาอุปาทานในความอยากกินพิซซ่าได้ ผู้วิจัยได้พบผลที่เกิดขึ้นกับตนเอง 3 ด้านหลักๆ คือ 1) ด้านจิตใจ : ผู้วิจัยมีความผาสุกของจิตวิญญาณมากขึ้น จิตใจมีความสงบเย็นมากขึ้น2) ด้านร่างกาย : ผู้วิจัยรู้สึกสบาย เบากาย มีกำลังมากขึ้น และนอนหลับได้ดีขึ้น 3) ด้านเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต : ผู้วิจัยมีเวลามากขึ้น ประหยัดเงินมากขึ้น สุขภาพดีขึ้น ใช้ชีวิตเรียบง่ายขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดความวุ่นวายหรือความเดือดร้อนในชีวิต มีเวลาในการทำสิ่งดีๆ เช่น การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์มากขึ้น

6.การวิจัยครั้งนี้เป็นการพิสูจน์คำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องโทษของกาม และ การคิดที่เป็นสัมมาสังกัปปะและมิจฉาสังกัปปะ ได้อย่างชัดเจน

คำสำคัญ : กิเลส ตัณหา โทษของกาม ธรรมาธรรมะสงคราม พิซซ่า สติปัฏฐาน 4 อริยสัจ 4 อุปาทาน


อ่านเอกสารฉบับเต็มได้ที่ [คลิก]

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *