การล้างผัก : กมลชนก ทุมวงษ์
วัตถุดิบที่สำคัญในการปรุงอาหารของเรา คือ ผัก ผลไม้ และธัญพืช แต่ถ้าจำเป็นต้องซื้อจากตลาด ก็ต้องแช่ และล้างให้ดีด้วย
การล้างผัก
ในตลาดตอนนี้มีสารพิษ หรือสารเคมีอยู่ในอาหารแทบทุกชนิด
ปลอดภัยที่สุด คือการปลูกเอง หรือเลือกซื้อตามแหล่งที่ขายผักไร้สารพิษ ซึ่งทางอโศก และแพทย์วิถีธรรมก็มีตลาดนัดสัญจร ให้เลือกซื้ออยู่หลายแห่งแล้วตอนนี้
แหม่มซื้อผักจากตลาดหน้าหมู่บ้าน ซึ่งไม่มีผักปลอดสารพิษเลย ต้องเสียเวลากับการแช่ และล้างนานหน่อยก็เพื่อความปลอดภัย ในการลดสารพิษ หรือสารเคมี แบบประหยัด
การแช่ผัก ให้ล้างผ่านน้ำก่อน แล้วแช่นานประมาณ 15 – 20 นาที จากนั้นนำไปล้างด้วยน้ำสะอาด 2 – 3 น้ำ ผักที่เป็นใบ เช่นคะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ให้เอาขึ้นก่อน(แช่นานใบจะช้ำ) ถ้าเป็นผักหัว เช่นกะหล่ำปลี บลอกโคลี ให้ผ่า 2 หรือ 4 ชิ้น ล้างแล้วแช่ แช่ได้ทั้ง ผัก ผลไม้ และธัญพืชทุกชนิด โดยใช้น้ำซาวข้าว หรือถ่าน (เชื้อเพลิงที่เรานำมาหุงข้าว) สามารถเวียนกลับมาใช้ได้ 20 ครั้ง (หลังจากใช้เสร็จแล้วนำไปตากให้แห้ง แล้วยังนำกลับไปเป็นเชื้อเพลิงได้อีกต่อไป) จะใช้อย่างหนึ่งอย่างใดหรือสองอย่างรวมกันก็ได้ ส่วนน้ำซาวข้าวเมื่อใช้เสร็จแล้ว นำไปรดผัก หรือต้นไม้จะขึ้นได้งาม
ผักที่เหี่ยวเฉาไม่สด เมื่อนำมาแช่ด้วยถ่าน จะทำให้ผักกรอบ สด และอยู่ได้นาน
การเก็บ หลังจากที่ล้างแล้ว ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ หรือใช้ผ้าเช็ดให้แห้ง ถ้ามีกล่องก็ใส่ในกล่อง ถ้าไม่มีก็ใช้ถุงพลาสติก โดยใช้กระดาษข้าวมันไก่ หรือใบตองรองด้านล่างก่อน แล้ววางผัก หรือผลไม้ต่าง ๆ จากนั้น ก่อนปิดฝาก็ใช้ใบตอง ปิดด้านบนอีกครั้ง ผักก็จะสด และเก็บได้นานค่ะ
วิธีการนี้สามารถลดสารพิษได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ด้วยวิธีประหยัด เรียบง่าย ได้ผลจริง
สภาวธรรม
เคยใช้ด่างทับทิมในการล้างผักก็คิดว่าประหยัดแล้วเพราะใช้แค่นิดหน่อย แต่เมื่อใช้แล้วก็ต้องเททิ้ง ไม่ได้วนเวียนกลับมาใช้ซ้ำใหม่ ส่วนการใช้ถ่านสามารถนำมาใช้ซ้ำ และน้ำซาวข้าวก็ยังสามารถนำไปรดผักพืชหรือต้นไม้ต่าง ๆ ได้อีก ซึ่งเขามีสารอาหารที่ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดีอีกด้วย จากการได้เรียนรู้ด้วยการเข้าค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรมแล้วก็ได้รู้ว่ายังมีวิธีการที่ประหยัดเรียบง่ายได้ผลมากกว่าสิ่งที่เราเคยใช้อีก ตั้งแต่นั้นมาก็ใช้วิธีนี้มาตลอดด้วยความมั่นใจ