Skip to content

ทำนาข้าวดอย : ธัญมน หมวดเหมน

ทำนาข้าวดอย : ธัญมน หมวดเหมน (มั่นแสงธรรม)

การปลูกข้าวให้ได้รวงข้าวที่มีคุณภาพ (เมล็ดดกและสมบูรณ์)ต้องปลูกในระยะห่างที่พอดี(ประมาณ 30-50 ซม.)

ภูผาฟ้าน้ำ บนดอย อากาศเย็น ฝนตกดี


เตรียมแปลงหว่านกล้าด้วยการใช้จอบขุดเพื่อยกขอบคันนาให้สูงกว่าพื้นนา เพื่อการเก็บ น้ำไว้ในแปลงนา โดยเน้นเป็นนาแปลงเล็ก และทำร่องน้ำไว้ในรอบแปลงโดยให้ร่องน้ำต่ำกว่าพื้นแปลง ป้องกันไม่ให้น้ำท่วมและไหลพัดพาเมล็ดไปตอนหว่านเมล็ดลงบนแปลง นำเมล็ดข้าวดอย(ที่แช่น้ำไว้ 2-3 วัน เทใส่ผืนผ้าให้สะเด็ดน้ำแล้วทิ้งไว้ 3 วัน)ลงหว่านในแปลงที่เตรียมไว้

ในช่วงรอให้ต้นกล้าโตเราก็เตรียมแปลงปลูก โดยเน้นเป็นนาแปลงเล็กและทำเหมือนเตรียมแปลงหว่านกล้าแต่ไม่ต้องทำร่องน้ำรอบแปลงโดยเกลี่ยพื้นให้เสมอกันทั่วทั้งแปลง พรวนดินในแปลงด้วยจอบและปล่อยน้ำเข้าในแปลงเพื่อกันไม่ให้วัชพืชในแปลงฟื้นตัวและแช่น้ำทิ้งไว้ให้วัชพืชเน่าและย่อยสลายเป็นปุ๋ยให้แปลงนาต่อไป และเพื่อให้ดินในแปลงมีความชื้นพร้อมปลูก รอจนต้นกล้าอายุประมาณ ประมาณ 1เดือน-เดือนครึ่งก็เริ่มถอนกล้ามาดำในแปลงที่เตรียมไว้

การถอนต้นกล้าก็มีวิธีหรือเทคนิคในการถอนเพื่อไม่ให้รากต้นกล้าขาด ด้วยการใช้มือข้างหนึ่ง จับที่กลางต้นกล้าแล้วจับให้ต้นนอนแนบลงแนวเดียวกับพื้นหรือให้ต้นเอียงประมาณ 45 องศา และใช้มืออีกข้างหนึ่งจับไปที่ใกล้โคนของต้นกล้าแล้วดึงเบาๆ เพื่อกันการขาดของรากต้นกล้า และก่อนที่จะนำต้นกล้าไปดำในแปลงควรตัดปลายต้นกล้าออกให้เหลือความยาวของต้นกล้าประมาณ 2 คืบหรือกะให้สูงกว่าระดับน้ำในแปลงนาเพื่อกันต้นกล้าจมน้ำและเน่า

วิธีการดำนา ให้ใช้มือข้างไม่ถนัดอุ้มหรือถือต้นกล้าโดยหันด้านรากออกไปด้านหน้าหันปลายต้นกล้าไปด้านหลังหรือเข้าหาตัวเราและจับต้นกล้าด้วยมืออีกข้างที่ถนัดโดยให้ปลายของนิ้วโป้ง จับเลยรากต้นกล้าไปเพื่อกันไม่ให้คอต้นกล้าหักเวลาที่เรากดต้นกล้าลงไปในพื้นดินในแปลงนาโดยกดให้ลึกประมาณสองข้อนิ้วมือหรือลึกพอที่ต้นกล้าจะไม่หลุดกลับขึ้นมา และใช้นิ้วชี้และนิ้วที่เหลือโกยดินทับตรงโคนของต้นกล้าให้แน่นขณะที่เราถอนนิ้วโป้งขึ้นโดยพยายามตั้งต้นกล้าให้ตั้งขึ้น การปลูกข้าวเพื่อให้ได้ต้นกล้าที่สมบูรณ์แข็งแรงและได้รวงข้าวที่มีคุณภาพ(เมล็ดดกและสมบูรณ์)เราไม่ควรปลูกถี่เกินไป โดยให้ระยะห่างของต้นประมาณ 30-50 ซม.ใช้ต้นกล้า 2-3 ต้นต่อ 1 กอ หรือ 1 หลุม

สภาวธรรม

การได้เรียนรู้การทำนาที่ไม่มีวัสดุอุปกรณ์เครื่องทุ่นแรงอะไร (มีเพียงจอบกับมือเปล่าและพลังสามัคคีของหมู่มิตรดี) ทำให้ได้เรียนรู้และเข้าใจวิถีชีวิตของชาวนาไทยสมัยก่อนที่ไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากมายเหมือนสมัยนี้ ทำให้เข้าใจถึงความยากลำบากของชาวนาอย่างลึกซึ้ง ว่าต้องใช้ความเพียรความอดทนสูงในกิจกรรมการทำนาและทำให้เข้าใจว่าทำไมชาวนาสมัยก่อนจึงมีประเพณีการช่วยกันลงแขก โฮมแฮง(ร่วมแรงร่วมใจ) กันในการทำนาตั้งแต่ขั้นตอนการเริ่มทำจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ทำให้เห็นภูมิปัญญาและความรักสามัคคีกันของคนสมัยก่อนว่าท่านมีการใช้หลักธรรมความสามัคคีใช้พลังหมู่กลุ่มในการขับเคลื่อนทำการงานที่หนักและยากให้กลายเป็นงานเบาและง่ายขึ้นได้ด้วยพลังสามัคคี และทำให้เข้าใจคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า ข้าวเปลือกเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง ได้อย่างลึกซึ้งจริงๆ เพราะความยากลำบากในการทำนาทำให้เราเห็นคุณค่าของข้าวมากยิ่งขึ้น ทำให้เห็นว่าข้าวคือเครื่องเลี้ยงชีวิตที่สำคัญสูงสุดที่ถ้าเราร่วมกันทำได้เหมือนคนโบราณหรือเหมือนสังคมพวธ.ที่มีอาจารย์หมอเขียวเป็นผู้นำพาทำอยู่ ชีวิตเรา หมู่กลุ่มเรา สังคมเรา ประเทศเราก็จะอยู่รอดได้แม้ในยามวิกฤต เพราะถ้าเรามีข้าวมีอาหารที่พอเพียงและสิ่งสำคัญที่สุดคือคนที่อยู่ร่วมกับเราเป็นผู้มีศีล มีทิฎฐิที่เป็นอาริยะไปในทางเดียวกันก็จะพากันอยู่รอดได้อย่างไม่ยากไม่ลำบาก เพราะสามารถพึ่งตนและช่วยเหลือ แบ่งปันผู้อื่นได้ด้วยการใช้หลักธรรมสาราณียธรรม 6 พุทธพจน์ 7

บทความแนะนำ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *