ถูกต้องตามธรรม : ศิริพร คำวงษ์ศรี
มนุษย์เราเกิดมาจากความถูกต้องตามกรรมที่เคยได้ล้วนทำสะสมไว้ เรียนรู้เติบโตเพื่อใช้ชีวิตอย่างเป็นพลเมืองที่ดีถูกต้องตามสังคม แล้วทำไมคนดี ทำสิ่งดี หวังให้มีสิ่งดีเกิดขึ้น ใจยังมีทุกข์ ?
______
โจทย์ทุกโจทย์ เหตุการณ์ทุกเหตุการณ์
เป็นเครื่องมือฝึกจิตของเราให้เป็นสุข
อย่างถูกต้องตามธรรม
หนังสือ บททบทวนธรรม ข้อที่ ๑๒๑ | ดร.ใจเพชร กล้าจน (หมอเขียว)
______
การเดินทางของชีวิตมาจนวันนี้ ผ่านเหตุการณ์อุปสรรคต่าง ๆ มากมายเกินบรรยาย ล้มลุกคลุกคลานอยู่ในเขาวงกตของชีวิตที่สิ้นหวัง เพื่อรอคอยวันสิ้นสุดแห่งความทุกข์ เมื่อได้รู้ความจริงของโลก จึงมุ่งทำประโยชน์สร้างกุศลด้วยการงาน เอาภาระโดยไม่หวังวัตถุตอบแทน แต่ก็แค่เพียงมุ่งหวังให้มีแต่สิ่งดีงามที่เป็นประโยชน์เกิดขึ้นต่อส่วนรวม ก็เท่านั้นเอง…
ใคร่ครวญว่าปัจจุบันเราก็ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องแล้ว เวลาส่วนมากจะหยิบจับอะไร ก็ล้วนเป็นสิ่งดีมีประโยชน์สูงสุดต่อสังคมโลก สายตามองไปดูคนรอบข้าง เพ่งคิดในใจว่า “ก็เราทำเรื่องดีขนาดนี้แล้ว ทำไมเธอมองไม่เห็นจริง ๆ หรือว่าเป็นเรื่องดีที่เธอก็ควรพึงทำบ้าง ทำไมจึงคิดไม่ได้กันนะ ทำไมถึงไม่ยอมทำ ? บางครั้งเพ่งคิดอย่างเดียวไม่พอก็เลยเถิดไปเพ่งโทษด้วยคำพูด เพ่งมองด้วยสายตาเหมือนพวกเขาเป็นบุคคลร้ายแรงต่อสังคม ถือสิทธิ์ตั้งตนขึ้นเป็น “ตำรวจ”ควบคุมความประพฤติคนรอบข้าง ดั่งเอาปืนไปจ่อ ยืนขู่ให้พวกเขาทำสิ่งดี ก็เพราะมันเป็นสิ่งที่ “ถูกต้อง”
แต่การใช้สิทธิ์นี้ยิ่งใช้ยิ่งทุกข์ ยิ่งเหนื่อยยิ่งท้อ เพราะยิ่งหวังให้สิ่งดีเกิดขึ้นอย่างไร มันก็ยิ่งพร่องและไม่สมบูรณ์ ไม่เคยเป็นไปตามความถูกต้องตามภาพในใจของเราเลย การใช้สิทธิ์นี้ก็ยังเป็นเหตุให้คนรอบข้างเริ่มมีพฤติกรรมที่ยิ่งเหินห่างออกไปจากเรา ด้วยการหลีกเลี่ยงไม่กล้าสนทนากับ “บุคคลถูกต้อง” เพราะเต็มไปด้วยบรรยากาศที่อึดอัดบีบคั้น
เวลาล่วงเลยไปจนถึงจุดที่เรียกว่า ถึงรอบธรรม ทำให้เริ่มตระหนักในการกระทำของตนเองได้ว่า เรามีสิทธิ์อะไรไปจัดการชีวิตผู้อื่น เรามีสิทธิ์อะไรในการบงการความถูกต้องในชีวิตของพวกเขา ตัวเราเองยังต้องการอิสรภาพในการเลือกที่จะคิด พูด ทำในสิ่งใดก็ได้ที่เหมาะสมกับเรา เราก็ต้องการเลือกเองทั้งสิ้น ทำไมจึงใจร้ายกับคนรอบข้างนักหนา ? จริง ๆ แล้วที่ทำมาทั้งหมด เราก็เพียงต้องการให้เกิดความผาสุกบนโลกนี้มิใช่หรือ ?
เปิดหนังสือบททบทวนธรรมได้อ่านเจอข้อนี้ จึงทำให้เกิดปัญญาและเกิดความเข้าใจใหม่ว่า จริง ๆ แล้วทุกสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงภายนอก วิบากกรรมดีร้ายก็ก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาทดสอบจิตใจของเราว่า หากมีคนหรือเหตุการณ์ใดทำดีได้ไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐานของเรา เราจะสามารถเข้าใจ ยุติความยึดมั่นถือมั่น เลิกเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นได้จริง ๆ หรือไม่ จึงตระหนักได้ว่า ที่ผ่านมาจริง ๆ แล้วเรานั้นทำความดี แต่ไปพาลมัวเมาในความโลภดี หลงกดดันคนรอบข้าง เพียงเพื่อต้องการสนองตัณหาของตนเอง เหมือนจะดีแต่ก็ยังชั่ว เพื่อให้ได้ “ความถูกต้องตามใจ” เหนี่ยวนำกิเลส ลดทอนพลังงานบริสุทธิ์ของทั้งตนเองและผู้อื่น
ค้นพบแล้ว กับความหมายในการใช้ชีวิตให้เกิดความดีงามอันแท้จริงสูงสุด คือ การทำดีด้วยสภาพใจที่เต็มไปด้วยความเบิกบาน ยินดี เบาสบาย และยอมรับในทุกเหตุการณ์ ทุกการกระทำที่เกิดขึ้น โดยน้อมนำใช้ “พรหมวิหาร ๔” เป็นหลักธรรมประจำใจ มุ่งทำความดีอย่างเต็มที่ พร้อมวาง พร้อมปรับ พร้อมเปลี่ยน ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่า เราหรือใครจะทำดีได้สำเร็จ ขอเพียง “ใจสำเร็จ ใจไร้ทุกข์” นี่แหละจึงจะเรียกได้ว่า “ถูกต้องตามธรรม”
บททบทวนธรรมโดย อาจารย์หมอเขียว (ดร.ใจเพชร กล้าจน)