Skip to content

ความยึดมั่นถือมั่น : มาลิน จุ้ยทรัพย์เปี่ยม

ความยึดมั่นถือมั่น : มาลิน จุ้ยทรัพย์เปี่ยม (เมฆ ลม ฟ้า)

ได้ฟังธรรมะของอาจารย์หมอเขียว (ดร.ใจเพชร  กล้าจน) ในรายการธรรมะพาพ้นทุกข์ ประจำวันที่ 24 เมษายน 2564 สิ่งที่ทำร้ายเราได้มากที่สุด คือ ความอยากได้ดังใจหมาย อกุศลตัวที่ร้ายที่สุดคือ ความยึดมั่นถือมั่น ไม่มีอะไรทำร้ายเราและผู้อื่นได้มากที่สุดเท่า ความยึดมั่นถือมั่นของเรา ซึ่งความอยากได้เป็นอกุศลที่ทำให้ปัญญาดับ ชีวิตโง่ไปเรื่อย ๆ 


ถ้าเราไม่มีความอยาก ก็จะเป็นสภาพอุเบกขา ไม่ชอบ ไม่ชัง เลิกอยากได้สิ่งนั้น ก็คืออุเบกขา ที่เป็นพลังกลาง ๆ เป็นพลังแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในโลก แต่ถ้าช่วงเวลาที่กิเลสเข้า กิเลสตัวจะเอา อยากได้ดังใจหมาย ตาจะมืดบอด ปัญญาจะไม่เกิด เพราะคิดผิดเป็นถูก คิดว่า เขาทำไม่ดีกับเรา แท้ที่จริงแล้วเรานั่นละ ทำไม่ดีกับตัวเราเอง วิบากของเราเขาไปดึงคน สัตว์ เหตุการณ์มาทำไม่ดีกับเรา “ถ้าเราวิปลาส เราจะทุกข์ทันที” วิปลาสนั้นคือความเพื้ยน มันไม่ใช่สิ่งนั้น แต่เราหลงว่าเป็นสิ่งนั้น หลงว่าเขานั้น กำลังทำไม่ดีกับเรา จริง ๆ คนที่ทำร้ายเราคือ ตัวเราเอง วิบากร้ายของเราเอง อาจารย์พูดถึงอาการวิปลาส 4 ซึ่งคนทั่วไปถ้ายังไม่มีปัญญา ก็จะเป็นอาการนี้ วิปลาส 4 คือ

    1. ในสภาพไม่เที่ยง ว่าเที่ยง (อนิจเจ นิจจัง)
    2. ในสภาพเป็นทุกข์ ว่าเป็นสุข (ทุกเข สุขัง)
    3. ในสภาพไม่ใช่อัตตา ว่าเป็นอัตตา (อนัตตานิ อัตตา)
    4. ในสภาพไม่งาม ว่างาม (อสุเภ สุภัง)

หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา พบว่าเกิดจากสภาพยึดมั่นถือมั่นของตัวเราเอง เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ คิดว่าความคิดของตัวเองถูก คนรอบข้างผิด คิดว่าสิ่งที่คนอื่นทำ เขาทำไม่ดีกับเรา แต่แท้จริงแล้ว เขาทำสิ่งนั้น ถ้ามันไม่ดี เขาก็ทำไม่ดีต่อตัวเขาเองเท่านั้น เขาไม่ได้ทำไม่ดีต่อเราเลย มันไม่มีใคร / อะไรมาทำร้ายเราได้ นอกจากเราเอง แต่เราหลงว่าเขามาทำร้าย เขานิสัยไม่ดี เขาชั่ว เขาไม่ดีกับเรา แต่สิ่งที่จริง ตัวเราเองทำไม่ดีกับเราแถมไปพาลทำไม่ดีกับเขาต่อ เกิดวิบากใหม่ต่อกันไปเรื่อย ๆ

พอมาเทียบกับผัสสะหรือเหตุการณ์ที่ข้าพเจ้าเจอ พบว่าเวลามีกิเลสตัวอยากได้ดังใจหมาย อยากให้คนอื่นทำดีดังใจเรา อยากให้คนอื่นเข้าใจเรา วจีสังขารที่ออกไปคือ “เข้าใจไหมเนี่ยที่กำลังพูดอยู่” เห็นเลยว่า เรากำลังจะเอาความเข้าใจจากเขา ทั้งที่เรายังโง่ ตัวเราเองยังไม่เข้าใจตัวเองอยู่เลย ยิ่งฟังอาจารย์ ยิ่งเห็นตัวเองชัดเจน เห็นความวิปลาส 4 ข้อ 3 ชัดเจน หลงสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน ว่าเป็นตัวตน ผัสสะ ในสภาพไม่รู้ความจริงตามความเป็นจริง อาจารย์ให้อ่านวิปลาสให้ออก แต่เวลากิเลสเข้า กิเลส/วิบากจะหลอกเราเหมือนจริง

อาจารย์บอกว่า “คนเราหนึ่งชาติเกิดมา แค่รู้ว่าใจเราทุกข์อะไร ก็กำจัด / ดับ ให้มันได้แค่นั้น พอแล้ว” แต่เอาของจริงนั้น มันยาก ยากมาก เวลากิเลสเข้า มันจะมาซ้อน ๆ กันหลาย ๆ ตัว ถาโถมกันมา จนหาตัวต้นตอไม่เจอ จากแต่ก่อนที่ไม่รู้ตัวเองด้วยว่า เราทุกข์อยู่ สภาพที่เราทุกข์แม้เล็กแม้น้อยก็ไม่ได้จับ ตอนนี้พยายามอ่านอาการทางกาย อาการทางใจซึ่งมันก็มาเร็ว ไปเร็วมาก แต่อาการขุ่น ๆ บางทีก็จับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง พยายามอ่านอาการเวทนาทางใจ ตามที่อาจารย์บอก ตรวจใจตัวเองเวลาเจอผัสสะ ตรวจใจว่าเราทุกข์ไหม อยากได้อะไรจากผัสสะนั้น

อาจารย์บอกว่า “จริง ๆ แล้วคนเราไม่ต้องดับทุกข์ก็ได้ แค่ให้เห็น ให้ได้ว่า อะไรมันเป็นทุกข์ เห็นทุกข์ให้ได้

เห็นให้ได้ว่า อยากได้อันนั้น อันนี้แล้วมันทุกข์ แค่นี้ก็พอแล้ว ยังไม่ต้องดับก็ได้

แค่เห็นให้ได้ว่ามันคือความอยาก ถ้าไม่ทุกข์ ก็ไม่ต้องอยาก”

สภาพไม่อยาก เลิกความอยากคือ สภาพอุเบกขา ไม่ชอบ ไม่ชัง สภาพดับทุกข์คือ ไม่ต้องอยาก คือสภาพพีชะ คือสภาพอาศัยเพื่อเอาประโยชน์เท่านั้น อาจารย์เปรียบเทียบกับเหมือนคนล้วงมือลงไห ล้วงไปเป็นงูหรือปลาไหล ยังไม่แน่ใจ เปรียบเหมือนยังไม่ชัดว่ามันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ถ้ายกขึ้นมาเห็นเป็นงู มือก็ต้องปล่อยออกอยู่ดี เหมือนสภาพถ้าเราเห็นทุกข์ เราทุกข์ เราก็เลิกทุกข์ เท่านั้นเอง ทุกข์เพราะความอยาก ก็แค่ไม่อยาก เลิกอยากก็หายทุกข์แล้ว แค่นี้เอง ทำไมมันง่ายจัง แต่การจะเลิกอยาก ก็ให้พิจารณาโทษของมัน ประโยชน์ของการไม่มีมัน ชีวิต ทุกข์เพราะอยากได้เท่านั้นเอง ธรรมะบทนี้คงต้องฟังบ่อย ๆ ความทุกข์ ความอยากของตัวเองจะได้หายไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *